วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การทำคันนา

 ถ้าท่านทิ้งนา นาก็จะทิ้งท่าน ในเวลาไม่นาน
การทำคันนาใหญ่ๆ นั้นมีหลายวิธีด้วยกัน
·       ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้งการวางคันนา จะต้องเป็นจุดที่ควบคุมน้ำได้ดี สามารถทำประตูน้ำหรือทางระบายน้ำได้สะดวก
·       และที่สำคัญเป็นบริเวณที่สะดวกในการหาวัสดุมาซ่อมแซมคันนาในภาวะที่คันนาขาด หรือต้องเสริมให้คันนาแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม
·       ชนิด ของดินที่เหมาะแก่การทำคันนานั้น ควรจะเป็นดินชั้นล่าง ที่มีความสามารถในการเกาะตัวกันได้ดี เพราะดินชั้นบนจะร่วน เมื่อถูกน้ำก็จะพังได้ง่าย ไม่ว่าดินนั้นจะเป็นดินเหนียวหรือดินทราย
·       และ ยิ่งถ้าเป็นการปั้นคันนาช่วงที่มีความชื้นสูง หรือมีน้ำแช่ขัง จะปั้นได้ไม่แน่น แต่ถึงแม้จะปั้นในช่วงที่ไม่มีน้ำ ก็จะดูเหมือนแน่น แต่จะพังได้ง่ายมาก เมื่อมีฝนตกหรือมีน้ำไหลหลาก
ดังนั้น
·       ควรเลือกเวลาที่ดินมีความชื้น พอปั้นเป็นก้อนได้พอดี
·       มีการขุดเอาดินหน้าที่ร่วนออกก่อน แล้วนำดินชั้นล่างที่อัดตัวกันแน่นดีแล้วมาเป็นตัวสำคัญในการปั้นคันนา
·       ซึ่งอาจจะทำเป็นแกนกลางไว้ก่อน แล้วเสริมด้วยดินชั้นบนก็ได้
·       เพราะเมื่อดินชั้นล่างเกาะกันเป็นกำแพงแกนกลางแล้ว ก็จะพังได้ยาก ถึงแม้จะมีดินชั้นบนทับอยู่ด้านนอก ก็ไม่ทำให้เกิดความอ่อนแอมากนัก
·       และการใช้ดินชั้นบนโปะอยู่ด้านนอกนั้น จะช่วยให้การปลูกพืชต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี
ในการทำนาเพื่อการดักปลา ควรจะคิดถึงขนาดของคันนา โดยเฉพาะความกว้างด้านบน ที่สามารถขุดหลุมดักปลาได้โดยไม่ทำให้คันนาพังได้ง่าย
และ โดยเฉพาะการทำหลุมดักปลาบนคันนา ควรจะทำใกล้กับท่อระบายน้ำ ตรงจุดที่เป็นรอยต่อของท่อ ๒ ท่อ เพื่อให้มีรูระบายน้ำ ในกรณีที่ฝนตก เพื่อจะทำให้ปลาหนีออกจากบ่อดักไม่ได้
รูระบายน้ำดังกล่าว จะทำหน้าที่เป็นรูเติมน้ำให้บ่อ ในกรณีที่ฝนตกน้ำหลาก และปลาติดอยู่ในหลุมดัก ปลาก็จะไม่ตาย
ฉะนั้น รูระบายน้ำดังกล่าวจึงทำหน้าที่ทั้งเติมน้ำ และระบายน้ำออกจากหลุมดักปลาในขณะเดียวกัน
และถ้าเป็นไปได้ ควรมีตาข่ายกั้นที่ปากหลุม เพื่อกันปลากระโดดข้ามหลุม ก็จะได้หลุมดักปลาที่มีประสิทธิภาพ บนคันนาที่แข็งแรงอีกทีหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม คันนาที่แข็งแรง เป็นพื้นฐานที่สำคัญ และเรายังสามารถใช้หลุมดักปลาเป็นจุดหรือร่องอัดรูรั่วของคันนาได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้น การทำหลุมดักปลาบนคันนา จึงมีประโยชน์หลายด้านด้วยกัน กล่าวคือ
·       ดักปลาที่โดดข้ามคันนา และ
·       เป็นจุดอัดรูรั่วของคันนาในกรณีที่มีน้ำซึมไหลผ่านคันนา


ดัง นั้น ทุกครั้งที่ฝนตก จะต้องรีบไปนาเพื่อซ่อมคันนา ที่น้ำเริ่มซึม หรือดินเริ่มพัง เพราะมิเช่นนั้น จะเป็นงานใหญ่ในวันต่อๆไป เมื่อคันนาพังเป็นช่องกว้าง จะแก้ไขและซ่อมแซมได้ยากมาก
นี่คือ หน้าที่ของชาวนา
และผมได้ตระหนักว่า ชาวนาจำเป็นต้องไปนาบ่อยๆ มิเช่นนั้น งานเล็กๆ ก็จะกลายเป็นงานใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องคันนาพัง เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากจริงๆ
เช่น ในครั้งหนึ่ง ผมไม่ได้ไปนาเพียง ๓ วัน  พอกลับมาอีกที ต้องเสียเวลาอุดคันนาเกือบทั้งวัน จึงสามารถอุดรูรั่วรูเดียวได้สำเร็จ
ชาวนาทั้งหลายครับ...ต้องไปนาทุกวันนะครับ มีงานรอท่านอยู่เสมอครับ
ถ้าท่านทิ้งนา นาก็จะทิ้งท่าน ในเวลาไม่นาน
 
ขอขอบคุณ
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/194346

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น